‘ศิลปะเพื่อการกุศล’

อาริยธรรมศิลป์” ถือกำเนิดจากความร่วมมือของผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะ ทั้งจิตรกรและประติมากร ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานศิลปะพระเครื่องพระบูชาไทย ด้วยแนวคิดที่แตกต่างจนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญ อันโดดเด่นมานานกว่า 10 ปี

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2555 (ขณะนั้นยังไม่มีชื่อกลุ่ม) ผลงานชิ้นแรกที่ปรากฏสู่วงการพระเครื่องพระบูชาคือ รูปหล่อ (พิมพ์แต่ง) ฉลุลอยองค์พระพุทธชินราช รุ่น จอมราชันย์” โดยจุดประสงค์เริ่มแรกถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นของสมนาคุณให้กับโครงการหลักคือ “เหรียญหล่อฉลุพระพุทธชินราช รุ่น จอมราชันย์” (โครงการนี้ยังไม่ระบุชื่อคณะผู้สร้างสรรค์ผลงาน)

แต่…ผลปรากฏว่า รูปหล่อ (พิมพ์แต่ง) ฉลุลอยองค์ รุ่นนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้นิยมสะสมพระเครื่องในเวลานั้น จนทำให้อีก 1 ปีต่อมา คณะทำงานกลุ่มเดิมได้ออกพระบูชารุ่นที่ 2 ใน พ.ศ. 2556 คือ “หลวงปู่ทวด รุ่น ปาฏิหาริย์สองโพธิสัตว์” ซึ่งรุ่นนี้มีทั้งเหรียญหล่อ และ รูปหล่อลอยองค์ โดยนับตั้งแต่รุ่นนี้เป็นต้นไป ชื่อของคณะผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้ถูกระบุไปพร้อมกับผลงานที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน

จากนั้น พระบูชานาคปรก ในนาม “พระพุทธมุจจลินท์รักษ์ธนทวี รุ่น มุจจลินท์มหาโภคทรัพย์” ได้ถูกเผยแพร่สู่วงการ ในปี พ.ศ. 2557 ถือเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ได้เสียงตอบรับที่ดีอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้นิยมสะสมพระเครื่องพระบูชา ต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2558 พระบูชา พระพรหมทรงหงส์เหิน ในนาม “พระพรหมประสิทธิ์ รุ่น มหาสิทธิโชคโภคทรัพย์” จึงถูกสร้างสรรค์ออกมาตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 2561 พระบูชา พระคเณศ 8 กร ร่ายรำลอยละล่องเหนือเกลียวคลื่นน้ำ ในนาม “พระศรีนาฏยมหาคเณศ รุ่น กําเนิดอาริยธรรมศิลป์” จึงปรากฏโฉมพร้อมกับเสียงตอบรับที่ดีมากเช่นกัน และเป็นรุ่นแรกที่ชื่อ “อาริยธรรมศิลป์” ถูกนำมาใช้เพื่อหมายรวมถึงคณะผู้สร้างสรรค์ผลงานทั้งกลุ่ม


ตราสัญลักษณ์ ‘อาริยธรรมศิลป์’ และความหมาย

Ariyadhammasilp’s Logo

ตราสัญลักษณ์ของ “อาริยธรรมศิลป์” ประกอบด้วย 2 สีหลัก คือ

  1. สีเหลืองทอง
  2. สีม่วงเม็ดมะปราง

ได้แรงบันดาลใจมาจากลาย “ปูรณฆฏะ” (อ่านว่า ปู-ระ-นะ-คะ-ตะ) ซึ่งไทยสืบทอดสัญลักษณ์มงคลนี้มาจากอินเดียโบราณ

ปูรณะ” แปลว่า เต็ม, สมบูรณ์ ส่วนคำว่า “ฆฏะ” แปลว่า หม้อ

รูปลักษณ์คือเป็นหม้อที่เอ่อล้นไปด้วยน้ำ มีดอกไม้หรือช่อพรรณพฤกษาผุดออกมาเหนือปากหม้อ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง พลังแห่งการสร้างสรรค์และการก่อกำเนิด ในประเทศไทยมักพบลายหม้อปูรณฆฏะ ประดับตามพุทธสถานล้านนา ทั้งลายรดน้ำ ลายจำหลักไม้ และลายฉลุแผงหน้าบัน โดยมีชื่อเรียกลายเฉพาะในภาษาล้านนาว่า “ลายหม้อน้ำดอก” หรือ “ลายหม้อน้ำคำ”

“คำ” ในภาษาเหนือแปลว่า “ทอง” ดังคำว่า วิหารลายคำ* แปลว่า วิหารลายทอง อีกทั้ง “ปูรณฆฏะ” ยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์มงคล 108 บนรอยพระพุทธบาท


  • วิหารลายคำ : เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็ก สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 24 (ระหว่าง พ.ศ. 2301 – 2400) ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา ตั้งอยู่ใน วัดพระสิงห์วรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามล้ำค่า (วาดขึ้นสมัย “พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์” (เจ้ามหาชีวิตอ้าว) ราว พ.ศ. 2406 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4) เป็นการประชันฝีมือระหว่าง 2 สล่า (คำเรียกช่างพื้นเมืองล้านนา) โดยด้านทิศเหนือ (ฝั่งขวาของวิหาร) วาดภาพเล่าเรื่องสังข์ทอง โดย “เจ็กเส็ง” ฝั่งทิศใต้ (ฝั่งซ้ายของวิหาร) วาดภาพเล่าเรื่องสุวรรณหงส์ โดย “หนานโพธา” ทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างเป็น “นิทานชาดกนอกนิบาต” (หมายถึง ชาดกที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก) 2 เรื่อง ในทั้งหมด 50 เรื่องของ “ปัญญาสชาดก” แต่งโดยพระภิกษุล้านนาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2000 – 2200
  • จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำแห่งนี้ มีคติการวาดภาพที่แตกต่างไปจากคตินิยมแบบภาคกลาง ที่มักวาดภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ไม่พบการวาดเล่าเรื่องนิทานชาดกนอกนิบาต
  • ชม : โมเดลวิหารลายคำ แบบ 3D